Akkhraratchakumari Veterinary College

สุนัขเป็นโรคจิต หรือ โรคประสาท ได้ไหม

รศ.ดร.น.สพ. เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน

หลายคนสงสัยว่าสุนัขเป็นโรคจิต หรือ โรคประสาทได้ไหม คำตอบก็คือ ได้ครับ สุนัขมีคุณสมบัติที่จะเป็นโรคเหล่านั้นได้ เพราะ สุนัขก็เป็นสัตว์ที่มีระบบประสาท มีสมอง มีความรู้สึก และมีจิตที่ผูกพันรักใคร่เหมือนกับคนเรา แต่ในทางสัตวแพทย์เราจะไม่เรียกว่า ว่าโรคจิต หรือโรคประสาท แต่เราจะเรียกกันว่า ความผิดปกติทางพฤติกรรม และ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สองคำนี้จะมีความเหมือนและแตกต่างกันพอสมควร

  1. ความผิดปกติทางพฤติกรรม ก็คือ การที่สุนัขแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็น เช่น ดุมากกว่าปกติ เดินวนไปมา กัดหางทำร้ายตัวเอง ไม่ค่อยกินอาหาร ไม่เคลื่อนไหว ทำลายข้าวของ ส่งเสียงดังมากเกินไป เป็นต้น
  2. พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ คือ พฤติกรรมที่เจ้าของไม่ต้องการให้สุนัขปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่ปกติ หรือไม่ปกติของสุนัขได้ เช่น สุนัขกระโดดใส่เจ้าของด้วยความดีใจ ลูกสุนัขกัดรองเท้า สุนัขเห่าคนแปลกหน้า

โดยต่อไปนี้ผมจะกล่าวรวมกันว่า “ความผิดปกติทางพฤติกรรมและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์” ซึ่งผมจะแบ่งออกเป็น กลุ่ม ตามหลักวิชาการของสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรม ดังนี้คือ

  1. พฤติกรรมตื่นเต้นมากเกินไป จากการศึกษาวิจัยของกลุ่มอาจารย์จากวิทยาลัยสัตวแพทย์ฯ ม วลัยลักษณ์ พบว่า พฤติกรรมตื่นเต้นมากเกินไปเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดของสุนัขในประเทศไทย โดยอาการภายนอกที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การกระโดดใส่เจ้าของ เอาเล็บข่วนที่ขาเจ้าของ เห่า หอน วิ่งไปมา เกาประตู เมื่อเจ้าของกลับมาบ้านหรือเข้ามาใกล้หรือจะพาออกไปด้าน ในสุนัขที่มีขนาดใหญ่การกระโดดใส่เจ้าของอาจทำให้เจ้าของได้รับบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะหากเป็นเด็กหรือ คนชรา อาการตื่นเต้นมากเกินไป พฤติกรรมเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับการที่สุนัขทำหมันแล้ว อายุน้อย อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้น และกินอาหารดิบ แต่พฤติกรรมเหล่านี้สามารถป้องกันและฝึกได้ เช่น มีเวลาอยู่กับสุนัขอย่างเพียงพอ การพาสุนัขไปออกกำลังกายเป็นประจำ การเล่นกับสุนัขเป็นประจำ และมีการฝึกให้สุนัขไม่ให้กระโดดใส่ เป็นต้น
  2. พฤติกรรมติดเจ้าของดึงดูดความสนใจ พฤติกรรมนี้เป็นปัญหาพฤติกรรมอันดับสองของประเทศไทย สุนัขที่พฤติกรรมนี้จะเดินตามเจ้าของตลอดเวลา ถ้าตัวเล็กก็เรียกร้องให้อุ้มตลอด พยายามมาอยู่ใกล้คน บางตัวจะกระโดดขึ้นตักอยู่เสมอ นอกจากนี้อาจจะร้องหรือเห่าหรือมาเบียดหรือกระโดดใส่ เวลาไปยุ่งกับคนอื่นหรือสัตว์ตัวอื่น พฤติกรรมนี้มักเกี่ยวข้องกับ สุนัขเด็ก กินอาหารบ่อย และยังไม่ได้ทำหมัน พฤติกรรมนี้ฟังดูเหมือนจะไม่มีอันตรายใดๆ และเจ้าของอาจจะมองเป็นอาการน่ารักขี้อ้อน แต่ถ้าหากเจ้าของละเลยไม่เอาใส่ใจ ก็อาจจะพัฒนากลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น ก้าวร้าว ทำลายข้าวของ หวาดกลัว ขับถ่ายไปเรื่อยได้ พฤติกรรมเหล่านี้สามารถป้องกันได้ เช่นมีการฝึกให้สุนัขให้คุ้นเคยกับสัตว์อื่น ให้เวลากับสุนัขอย่างเพียงพอ มีของเล่นให้สุนัข การพาออกไปเดินเล่น เป็นต้น
  3. พฤติกรรมความก้าวร้าว เช่น พฤติกรรมเห่า ขู่ กัด สุนัขสามารถแสดงความก้าวร้าวต่อเจ้าของ สัตว์อื่น หรือ คนแปลกหน้าได้ พฤติกรรมก้าวร้าวต่อคนแปลกหน้า อาจเป็นที่ต้องการในกรณีเจ้าของเลี้ยงไว้เฝ้าบ้านหรือสวน จากการศึกษาวิจัยของกลุ่มอาจารย์จากวิทยาลัยสัตวแพทย์ฯ ม วลัยลักษณ์ พบว่า การเลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้านหลายตัวเป็นการกระตุ้นให้สุนัขก้าวร้าวมากขึ้น ตัวผู้ก้าวร้าวกว่าตัวเมียเล็กน้อย การทำหมันไม่ค่อยมีผลความก้าวร้าว (ไม่เหมือนกับความเชื่อที่ผ่านมา) แต่ที่น่าแปลกใจคือสุนัขตัวเล็กมักมีความก้าวร้าวมากกว่าตัวใหญ่ ถึงแม้สายพันธุ์อาจมีผลต่อความก้าวร้าวบ้างแต่การดูแลเลี้ยงดูมีผลมากกว่า สุนัขที่เจ้าของดูแลดี ไม่ทำร้ายร่างกาย ไม่ทิ้งให้อยู่ตามลำพังนานเกินไปจะมีแนวโน้มที่จะมีความก้าวร้าวต่ำ
  4. พฤติกรรมหวาดกลัว เช่น กลัวคนแปลกหน้า กลัวฝนตกฟ้าร้อง กลัวหมอ กลัวการขังอยู่ในกรง สุนัขอาจมีอาการ หลบซ่อน วิ่งไปมา ขับถ่าย ปีนขึ้นโซฟา หรือเตียงนอน เราสามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ด้วยการปลอบใจจากเจ้าของ ให้ที่หลบซ่อน และการให้เวลาอย่างเพียงพอกับน้องหมา
  5. พฤติกรรมกังวลเมื่อถูกแยกจากเจ้าของ พฤติกรรมนี้จะพบได้บ่อยเมื่อเจ้าของทิ้งให้สุนัขอยู่ลำพังเพื่อออกไปทำงานในแต่ละวัน โดย สุนัข จะมีพฤติกรรมหลากหลาย เช่น เห่า หอน ขับถ่ายไม่เป็นระเบียบ เดินวน ทำลายข้าวของ การป้องกันแก้ไขที่ดีที่สุด คือ การมีเวลาอยู่กับสุนัข หาคนมาอยู่กับสุนัข การให้ของเล่นที่สุนัขชอบ

พฤติกรรมที่กล่าวมาทั้งหมด ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าของ และการฝึกสุนัขโดยเจ้าของเอง หากไม่สามารถทำได้ก็ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อใช้ยาในการรักษา หากต้องการปรึกษาปัญหาพฤติกรรม สามารถติดต่อขอคำปรึกษาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพฤติกรรมสุนัข ได้ที่ Facebook “คนน่ารักกับสัตว์เลี้ยงนิสัยดี” หรือ Line “TW Behave Vet” ของทีมวิจัยพฤติกรรมสัตว์ของ ม วลัยลักษณ์

แสดงความคิดเห็น