Akkhraratchakumari Veterinary College
ผลวิจัยพบ น้องหมาไทยมีปัญหาพฤติกรรม (สุขภาพจิต) ค่อนข้างสูง
Total Page Visits: 746

ปัญหาพฤติกรรมแมวที่พบได้บ่อย และแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาเบื้องต้นที่เจ้าของสามารถทำได้

           ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการเลี้ยงสุุนัขเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของสังคมสูงวัย ภาวะการมีบุตรยาก คนโสด และความไม่อยากมีลูก แต่หากน้องหมาถูกเลี้ยงดูแบบไม่ถูกต้อง และไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างเพียงพอ ก็จะทำให้น้องหมาเกิดปัญหาพฤติกรรม หรือมีปัญหาสุขภาพจิตได้

          ปัญหาพฤติกรรมในสุนัขเป็นปัญหาใหม่และใหญ่ ที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจ เพราะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้ เช่น การทิ้งน้องหมา การทำทารุณกรรมสัตว์ คนถูกกัด และอุบัติเหตุจากการเลี้ยงสัตว์ แต่ทว่าความรู้เกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมน้องหมาในประเทศไทยนั้นยังขาดแคลน ดังนั้น ทาง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล) นำโดยทีมวิจัยพฤติกรรมสัตว์และความสัมพันธ์กับมนุษย์ ของ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี (นานาชาติ) จึงได้ทำการวิจัยสำรวจพฤติกรรมของสุนัข และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ผ่านเจ้าของสุนัขทั่วประเทศไทย โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ โดยมีสุนัขที่ถูกประเมินพฤติกรรมเกือบสองพันตัว

           ผลการวิจัยพบว่า เจ้าของน้องหมาเป็นผู้หญิงมากถึง 88% อยู่ในเจเนอเรชั่นวายอายุ 23 – 40 ปี (64%) น้องหมาส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคกลาง (61%) โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ (30%) นนทบุรี (8%) และสมุทรปราการ (4%) โดยพบว่า 75% ของผู้เลี้ยงสุนัขอยู่บ้านเดี่ยว ในขณะที่น้องหมาที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนี่ยมมีเพียง 3% ส่วนอาหารที่นิยมใช้เลี้ยงสุนัขเป็นส่วนใหญ่ คือ อาหารสำเร็จรูป (69%) ซึ่งถึงแม้จะมีราคาแพงกว่าอาหารสดหรืออาหารทำเอง แต่เจ้าของก็ยินยอมจ่าย เนื่องจากมีความรักน้องหมาเหมือนสมาชิกในครอบครัว
สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย คือสุนัขพันธ์ผสม (29%) อาจเพราะเลี้ยงง่าย ฉลาด และทนโรค ส่วนพันธุ์แท้ที่นิยมเลี้ยง 3 อันดับแรก ได้แก่ พันธุ์โกลเด้นรีทีฟเวอร์ (10%), สุนัขพันธุ์ชิวาว่า (8%) และพันธุ์ปอมเมอเรเนี่ยน (7%) โดยเพศผู้และเมียมีจำนวนพอกัน

          ส่วนปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นสามารถพบได้มากกว่า 80% ของสุนัขที่เลี้ยงในประเทศไทย โดย 5 อันดับแรก คือ

1. พฤติกรรมตื่นเต้นมากเกินไป

        เช่น การกระโดดใส่เจ้าของ เอาเล็บข่วนที่ขาเจ้าของ ส่งเสียงดัง เวลาดีใจหรือตื่นเต้น ในสุนัขที่มีขนาดใหญ่การกระโดดใส่เจ้าของอาจทำให้เจ้าของได้รับบาดเจ็บได้โดยเฉพาะหากเป็นเด็กหรือ คนชรา ผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการที่สุนัขทำหมันแล้ว อายุน้อย อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้น และกินอาหารดิบ

2.พฤติกรรมติดเจ้าของหรือการเรียกร้องความสนใจ

        ผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมนี้เกี่ยวข้องกับสุนัขเด็ก การให้อาหารต่อวันบ่อย และยังไม่ได้ทำหมัน พฤติกรรมนี้ฟังดูเหมือนจะน่ารักและไม่มีอันตราย แต่ถ้าหากเจ้าของละเลยไม่เอาใส่ใจ ก็อาจจะพัฒนากลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น ก้าวร้าว ทำลายข้าวของ หวาดกลัว และขับถ่ายไม่เป็นที่ได้

3.พฤติกรรมชอบวิ่งไล่

        พฤติกรรมนี้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน และการทำร้ายกันได้ ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมนี้เกี่ยวข้องกับการที่บ้านมีพื้นที่มาก มีการเลี้ยงสุนัขหรือสัตว์อื่นอยู่หลายตัว และสุนัขสายพันธุ์ใหญ่จะชอบวิ่งไล่มากกว่าสายพันธุ์ขนาดเล็ก

4. พฤติกรรมก้าวร้าว (ดุ)

      ผลการวิจัยพบว่ามีเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้านหลายตัว ตัวผู้ก้าวร้าวกว่าตัวเมีย แต่การทำหมันไม่ค่อยมีผลต่อความก้าวร้าว แต่ที่น่าแปลกใจคือสุนัขตัวเล็กมักมีความก้าวร้าวมากกว่าตัวใหญ่ ถึงแม้สายพันธุ์อาจมีผลต่อความก้าวร้าวบ้างแต่การดูแลเลี้ยงดูมีผลมากกว่า

5.พฤติกรรมหวาดกลัว

    เช่น กลัวเสียงดัง กลัวคนหรือสัตว์แปลกหน้า พบมากในสุนัขพันธุ์เล็ก สุนัขอายุมาก สุนัขตัวเมีย การให้อาหารดิบ และมีความเกี่ยวข้องกับการที่บ้านมีการเลี้ยงสุนัขหลายตัว แต่เจ้าของไม่ค่อยมีเวลาให้



         เพื่อเป็นการลดปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ ทางทีมวิจัยฯจึงได้ทำการทดลองเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีป้องกัน และบรรเทาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้ โดยพบว่า การให้อาหารสุนัขด้วยของเล่นที่ใส่อาหารได้นั้น จะช่วยลดความเครียดของน้องหมา ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ดังที่กล่าวมาแล้ว โ่ดยเฉพาะพฤติกรรมตื่นเต้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายของน้องหมาทำให้มีสุขภาพดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการที่เจ้าของสุนัขอยู่ด้วยขณะให้อาหาร สามารถเพิ่มพฤติกรรมที่ดี และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสุนัขและเจ้าของด้วย ที่สำคัญทางทีมวิจัยฯ ได้ออกแบบของเล่นใส่อาหารสุนัขทำมาจากยางพารา ซึ่งผ่านการทดลองวิจัยแล้วว่า แข็งแรง ปลอดภัย น้องหมาชอบ ช่วยในการขัดฝน ออกกำลังกาย และยังมีประสิทธิภาพสูง ในการช่วยลดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของน้องหมาได้ นอกจากนี้การมีเวลาเล่นกับสุนัข การพาไปเดินเล่น การฝึกสุนัขโดยให้รางวัลและไม่ลงโทษ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้ หากสุนัขของท่านมีปัญหาทางพฤติกรรมสามารถปรึกษาได้ที่ Facebook “คนน่ารักสัตว์เลี้ยงนิสัยดี” (https://www.facebook.com/goodpetandhuman) หรือ นัดมาตรวจรักษาได้ที่ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก ม วลัยลักษณ์ (https://avcvethospital.wu.ac.th) เนื่องจากการรักษาอาจต้องใช้การฝึกร่วมกับการใช้ยาบำบัดจิต และอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคอื่น

ผู้เขียน

ทีมวิจัยของ มวล. นำโดย ผศ.ดร.สพ.ญ. วรกาญจน์ บุญเหาะ และ รศ.ดร.น.สพ. เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน

ข้อมูลอ้างอิง (ผลการวิจัยของทีมวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ)

• Boonhoh et al, 2023. The Validation of Thai version of Canine Behavioral Assessment and Research Questionnaire (C-BARQ) and the Exploration of Dog Ownership in Thailand. https://doi.org/10.1016/j.jveb.2023.08.001

• Boonhoh et al, 2023. Factors associated with pet dog behavior in Thailand. www.doi.org/10.14202/vetworld.2023.957-964

• Boonhoh et al, 2023. Effect of feeding toy and the presence of a dog owner during feeding time on dog welfare.www.doi.org/10.14202/vetworld.2023.1721-1726

• Boonhoh et al, 2023. Preference of Dogs Towards Feeding Toys Made of Natural Rubber, and Their Potential to Improve Canine Behaviour: A Study Based on Owners’ Observations.  http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.4582866

 
แสดงความคิดเห็น