Akkhraratchakumari Veterinary College
เมื่อน้องหมาน้องแมวกลัวเสียงดัง แล้วเราควรทำอย่างไรกันดี
Total Page Visits: 569

เมื่อน้องหมาน้องแมวกลัวเสียงดัง แล้วเราควรทำอย่างไรกันดี

        จากการศึกษาวิจัยสำรวจพฤติกรรมสุนัขทั่วประเทศไทยเกือบสองพันตัว ของ ม วลัยลักษณ์ เราพบว่า สุนัขไทยมีความกลัวเสียงดังค่อนข้างสูงโดยรวมแล้วพบประมาณ 83% ส่วนในแมวนั้นยังไม่เคยมีใครสำรวจว่าแมวที่หวาดกลัวต่อเสียงดังมีมากเท่าไรแต่ก็คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับในสุนัข  เสียงดังในที่นี้หมายถึง เสียงดังที่เกิดจากเครื่องยนต์ การก่อสร้าง ฝนตกฟ้าร้อง เสียงพลุ และเสียงประทัดเป็นต้น

        เมื่อแบ่งระดับความกลัวเป็นสามระดับ เราพบว่าสุนัขไทยมีพฤติกรรมที่หวาดกลัวมากต่อเสียงดังถึง 44% ของประชากรสุนัขที่สำรวจ ถัดมาคือความหวาดกลัวปานกลาง (20%) และความหวาดกลัวเล็กน้อย (19%) 

        ลักษณะของสุนัข และแมวที่หวาดกลัวมาก มักมีดังต่อไปนี้  น้องหมาน้องแมวจะมีอาการตัวสั่น ตะเกียกตะกายหาที่หลบซ่อน ร้องเรียก ฉี่ราด หรือ อึออกมา บางตัวก็จะพยายามหนีวิ่งชนผนังหรือประตูเพื่อหนี ถ้าสุนัขหรือแมวของท่านมีอาการใกล้เคียงหรือตรงกับที่ผมกล่าวมานี้ควรต้องปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพจิต และอาจต้องได้รับยาคลายเครียดหรือลดกังวล โดยเฉพาะเวลาในช่วงฤดูฝน หรือ ในช่วงเทศกาลที่มีการจุดประทัด

        ความหวาดกลัวอาจทำให้สุนัขหนีออกจากบ้าน แล้วเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้หากไม่ทำการบำบัดก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมอื่นตามมาอีก เช่น ความก้าวร้าว ขับถ่ายไม่เป็นระเบียบ และติดเจ้าของมากเกินไป

          ท่านสามารถบรรเทาความหวาดกลัวเหล่านี้ได้ด้วยการปลอบโยน เช่น ลูบตัว ลูบหัว พามานั่งตักหรือนอนด้วย หาที่หลบซ่อนตัวให้ ถ้าห้องมีกระจกก็ต้องปิดม่านให้หมดเพื่อลดกลิ่นและเสียง ไม่ควรทิ้งสุนัขหรือแมวของท่านไว้ที่บ้านตามลำพังในช่วงเทศกาลที่จะมีเสียงดัง หรือในช่วงที่จะมีฝนตกฟ้าร้อง

        การป้องกันไม่ให้เกิดความหวาดกลัว วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ พาหนีไปจากสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงดัง เช่น ถ้าบริเวณบ้านจะมีการจัดงานเสียงดังก็พาน้องหมาไปอยู่ที่อื่นก่อน แต่ถ้าหากฝนตกฟ้าคะนองก็คงจะป้องกันด้วยวิธีหนีไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการทานยาคลายเครียดหลังจากปรึกษาสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมแล้ว

 ผู้เขียน
หมอเติม
กลุ่มวิจัยพฤติกรรมสัตว์และความสัมพันธุ์กับเจ้าของ
คลินิกจิตเวชสัตว์เลี้ยง
 วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์ ม วลัยลักษณ์
ข้อมูลอ้างอิง
• Boonhoh et al, 2023. J Vet Behav. 68: 7-14
• Boonhoh et al, 2023. Factors associated with pet dog behavior in Thailand. www.doi.org/10.14202/vetworld.2023.957-964
 

ผู้เขียน

ทีมวิจัยของ มวล. นำโดย ผศ.ดร.สพ.ญ. วรกาญจน์ บุญเหาะ และ รศ.ดร.น.สพ. เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน

ข้อมูลอ้างอิง (ผลการวิจัยของทีมวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ)

• Boonhoh et al, 2023. The Validation of Thai version of Canine Behavioral Assessment and Research Questionnaire (C-BARQ) and the Exploration of Dog Ownership in Thailand. https://doi.org/10.1016/j.jveb.2023.08.001

• Boonhoh et al, 2023. Factors associated with pet dog behavior in Thailand. www.doi.org/10.14202/vetworld.2023.957-964

• Boonhoh et al, 2023. Effect of feeding toy and the presence of a dog owner during feeding time on dog welfare.www.doi.org/10.14202/vetworld.2023.1721-1726

• Boonhoh et al, 2023. Preference of Dogs Towards Feeding Toys Made of Natural Rubber, and Their Potential to Improve Canine Behaviour: A Study Based on Owners’ Observations.  http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.4582866

 
แสดงความคิดเห็น