Akkhraratchakumari Veterinary College
ทำอย่างไรดี เมื่อน้องหมาในบ้านกัดกัน
Total Page Visits: 1703

ทำอย่างไรดี เมื่อน้องหมาในบ้านกัดกัน

      ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวมาก เมื่อน้องหมาที่เรารักสองตัวกัดกันเอง ไม่รู้จะทำอย่างไรดีแก้ยังไงก็ไม่หาย  วันนี้ผมมีข้อมูลมาเล่าให้ฟังว่าจะต้องทำอย่างไรกันถึงจะป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้ 

      ก่อนอื่นต้องเข้าใจพฤติกรรมน้องหมาก่อน จากงานวิจัยของ ม วลัยลักษณ์ (มวล) เราพบว่า ความก้าวร้าวต่อสุนัขด้วยกันในบ้านพบได้ประมาณ 80% โดยมีความก้าวร้าวมากถึงขั้นกัดกัน 15% ที่สำคัญต้องจำไว้ว่า “ทฤษฎีจ่าฝูงไม่เมีอยู่จริง” “มีแต่ทฤษฎีครอบครัว” การทะเลาะกันของสุนัขเป็นความขัดแย้งในครอบครัว (สุนัขก็เหมือนลูกของเรา) โดยมีเจ้าของซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออาจจะเป็นสาเหตุด้วยซ้ำไป สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดความก้าวร้าวในบ้านแบ่งเป็น 2 ปัจจัย คือ 

 

ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ได้แก่

  • สายพันธุ์ สุนัขพันธุ์ขนาดเล็กจะก้าวร้าวมากกว่าสายพันธุ์ใหญ่
  • บ้านมีขนาดเล็ก ทำให้มีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนสุนัขที่เลี้ยง
  • อายุของสุนัข ถึงแม้ตอนเด็กอาจไม่ทะเลาะกันแต่พอโตขึ้นมาฮอร์โมนเปลี่ยนไปก็จะทะเลาะกันได้ ยิ่งแก่ก็จะหงุดหงิดง่าย เพราะสุขภาพไม่ดี โดยเฉพาะสุนัขที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มักมีพฤติกรรมก้าวร้าว
  • จากงานวิจัยของ มวล เพศและการทำหมันในสุนัขของประเทศไทย ไม่มีผลต่อความก้าวร้าวของสุนัขที่อยู่ในบ้านเดียวกัน

ปัจจัยต่อความก้าวร้าวที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ได้แก่

  • อาหารที่กินมีผลต่อความก้าวร้าว งานวิจัยของ มวล กล่าวว่า สุนัขที่กินอาหารดิบจะมีความก้าวร้าวมากกว่าอาหารชนิดอื่น ส่วนงานวิจัยอื่น บอกว่าสุนัขที่ขาดอาหารจะมีความก้าวร้าวมากกว่า ดังนั้นการให้อาหารเสริมจะช่วยลดความก้าวร้าวไปได้ นอกจากนี้หากโปรตีนที่ในอาหารสูงเกิน ทำให้เพิ่มพฤติกรรมก้าวร้าวได้
  • การออกกำลังกายของสุนัข จากการศึกษาวิจัยของ มวล และที่อื่น พบว่าสุนัขที่ได้ออกกำลังกายและถูกพาออกไปเดิน วิ่ง อย่างสม่ำเสมอ จะมีความก้าวร้าวต่ำ
  • สุนัขที่ผ่านการฝึก มีระเบียบในการใช้ชีวิตประจำวันจะมีความก้าวร้าวต่ำ โดยฉพาะการฝึกด้วยวิธีการใช้แรงเสริมเชิงบวก (positive reinforcement)
  • สุนัขที่มีความเจ็บป่วยทางกาย เช่น โรคผิวหนัง สมอง ข้อต่อ และต่อมไร้ท่อ มีผลก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ หากไม่รักษาโรคทางกายก่อน พฤติกรรมก้าวร้าวก็จะไม่หายไป
  • ความผิดปกติทางจิต เช่น พฤติกรรม ความเครียด ความกลัว ความกังวลใจ ความไม่พอใจ ติดเจ้าของ และเรียกร้องความสนใจ สามารถก่อให้เกิดความก้าวร้าวของสุนัขในบ้านได้

จุดกระตุ้นที่ทำให้เกิดการกัดกัน

  • แย่งอาหาร แย่งของเล่น แย่งที่นอนกัน
  • ความกลัว ความหงุดหงิด เช่น ถูกเจ้าของดุ มีเด็กมากวน หรือเจอคนแปลกหน้า
  • มีตัวใดตัวหนึ่งมาแหย่ เช่น เหยียบ หรือ กัดเล่นๆ ก่อน
  • เดินผ่านกันที่แคบ ในระหว่างที่หงุดหงิด

การกัดกันตอน เจ้าของอยู่ หรือไม่อยู่ ต่างกันอย่างไร

  • หากทะเลาะกันตอนเจ้าของอยู่ น่าจะหมายความว่าแย่งเจ้าของกัน โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาเจ้าของกลับมาหรือปรากฎตัว และมักเกิดแถวทางเดินในบ้าน หรือแถวประตูบ้าน
  • หากทะเลาะกันตอนเจ้าของไม่อยู่ น่าจะเกิดจากภาวะความเครียดเมื่อต้องแยกจากเจ้าของ
  • แต่ถ้ากัดกันทุกสถานการณ์ อันนี้ซับซ้อน ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมด่วน เพื่อประเมินสุขภาพจิต และสาเหตุที่เป็นไปได้

การแก้ไขพฤติกรรมน้องหมาทะเลาะกัน

  • สิ่งแรกที่เจ้าของสามารถทำได้เอง คือ พยายามหาสาเหตุของการทะเลาะกันของน้องหมา เช่น ถ้าพบว่า แย่งของเล่นกัน ก็ต้องมีของเล่นมากพอให้เขาเลือกเล่นกันได้ หรือ แยกกันเล่น เป็นต้น แต่ถ้าหาสาเหตุไม่ได้ ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ครับ
  • เมื่อพบว่าสุนัขทะเลาะกันเราห้ามลงโทษน้องหมา แต่ใช้ วิธีการใช้แรงเสริมเชิงบวก (positive reinforcement) เช่น เปลี่ยนเป็นให้รางวัลหากเขาไม่ทะเลาะกัน
    • การลงโทษจะทำให้สุนัขหงุดหงิดมากขึ้น เป็นการกดพฤติกรรม ไม่ใช้การแก้ไข สุนัขจะเก็บกดและจะระเบิดอารมณ์ขึ้นมาอย่างรุนแรงสักวัน
  • พบสัตวแพทย์เพื่อรักษาอาการ ทั้งสองตัว อาจต้องทานยา เพื่อปรับพฤติกรรม ลดความเครียด และอาจมีการทำพฤติกรรมบำบัด
    • พฤติกรรมบำบัด คือ การส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้อยู่ต่อเนื่อง หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา สร้างพฤติกรรมใหม่ที่ดี สรุปง่าย ก็คือ การที่เจ้าของต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี และฝึกสุนัขด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายให้สุนัขมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น

เมื่อพบเห็นสุนัขทะเลาะกัน กัดกัน ทำอย่างไรดี

  • อย่าโดดไปขวางอาจถูกกัดได้
  • เรียกชื่อ เพื่อให้หยุด หรือ เคาะชามอาหาร เพื่อให้หยุด แล้วจับแยก
  • หากกำลังขู่กัน หากเรียกเสียงดังเกินไปแทนที่จะหยุด อาจเป็นการกระตุ้นให้สุนัขกัดกัน
  • เพื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็จับแยกโซนกันอยู่ จนกว่าจะหาสาเหตุการทะเลาะกันได้ และมีวิธีแก้ไขแล้ว

การป้องกันความก้าวร้าวในบ้าน

  • ฝึกสุนัขให้เชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ ด้วยวิธีการใช้แรงเสริมเชิงบวก เจ้าของสามารถฝึกสุนัขให้ดีต่อกัน ด้วยการให้เจอกัน ในระยะที่ห่างก่อน สั่งให้นั่งรอ ถ้าสุนัขทำตามมีพฤติกรรมสงบก็ให้รางวัล แล้วค่อยขยับเข้ามาใกล้
  • เจ้าของต้องไม่ตะโกนเสียงดังในบ้าน
  • เจ้าของต้องไม่สนใจพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ เพื่อให้เขาเลิกพฤติกรรมนั้น
  • หากจูงเดินไป ไปแล้วทะเลาะกัน ต้องแยกกันจูงสองคน หรือ จูงคนละรอบ
  • ให้อาหารบ่อย ให้อย่างเพียงพอ มีของเล่นที่นอน ให้มากเกินพอ (มากกว่าจำนวนสุนัข)
  • ให้อาหารด้วยของเล่นที่ใส่อาหารได้ (feeding toy) อย่างสม่ำเสมอ งานวิจัยของ มวล และที่อื่น บอกตรงกันว่า ของเล่นนี้ ช่วยในการการเผาพลาญพลังงาน ลดความเครียด และลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในสุนัขได้

อุปกรณ์เสริมอื่น ที่อาจช่วยได้

  • น้ำมันหอมระเหยโดยเฉพาะจากลาเวนเดอร์ เป็นน้ำมันหอมที่มีการทดลองมากที่สุดและได้ผลดีที่สุดในการทำให้น้องหมาสงบขึ้น แต่บางคนก็บอกว่า ผสมหลายกลิ่นดีกว่า แต่ ปัญหา คือขนาด เวลา และวิธีการใช้ที่เหมาะสม สำหรับเจ้าของ ยังเป็นที่กังขาอยู่ เพราะไม่มีข้อแนะนำที่แน่ชัด แต่ที่แน่ คือ การใช้ธูปปล่อยกลิ่น หรือเครื่องกระจายกลิ่น (diffuser) น่าจะได้ผลดีกว่าแค่การสเปรย์ครั้งเดียวแน่นอน
  • การเปิดเพลงคลาสสิค เพลงช้าช้า ให้ฟัง บ่อยๆ

ผู้เขียน

กลุ่มวิจัยพฤติกรรมสัตว์และความสัมพันธ์กับมนุษย์
คลินิกจิตเวชสัตว์เลี้ยง
วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์ ม วลัยลักษณ์

ข้อมูลอ้างอิง (ผลการวิจัยของทีมวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ)

Boonhoh et al, 2003. Vet World. 16(5):957-964
Sechi et al, 2017. Vet Rec. 180(1):18
Re et al, 2008. Vet Res Comm. 32:225-230.
Wrubel et al, 2011. JAVMA. 238(6):731-740

แสดงความคิดเห็น