Akkhraratchakumari Veterinary College

ศูนย์วิจัยและช่วยชีวิตสัตว์ทะเล

ศูนย์1

                   ท้องทะเลไทยเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งทางด้านอาหาร เศรษฐกิจ สมดุลทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยว แต่จากข้อมูลการสำรวจและการวิจัยพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของมลภาวะทางทะเลและการเปลี่ยนแปลงของอากาศและสภาพแวดล้อมจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประชากรของสัตว์ทะเล ส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลทางธรรมชาติ ลดจำนวนของสัตว์ทะเลหายากและสัตว์เศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเสียหายทางเศรษฐกิจ และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลหายาก ปัญหานี้พบได้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

                   วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ทะเลทั้งที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ (กุ้ง ปู ปลา และหอยทะเล) และด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก (เต่าทะเล โลมา พะยูน และวาฬ) จึงมีเหมาะสมที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยและช่วยชีวิตสัตว์ทะเล เพื่อใช้เป็นแหล่งในการทำวิจัย การสอนนักศึกษาสัตวแพทย์ และให้บริการวิชาการแก่นักวิชาการและประชาชนในเรื่องของชีววิทยาและสุขภาพของสัตว์ทะเล ทั้งในแง่สัตว์เศรษฐกิจและในสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์

                   จากข้อมูลเชิงพื้นที่พบว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พบการปนเปื้อนของสารพิษและขยะในสัตว์ทะเล และพบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล และโลมาอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มอาจมีความเกี่ยวข้องกับมลพิษทางทะเล เช่น ขยะทะเล (พลาสติก) คราบน้ำมัน การปนเปื้อนของโลหะหนัก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เมื่อมีการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก จะต้องมีการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลเบื้องต้น ก่อนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กรมทรัพยากรชายฝั่งไปดูแลในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้มากขึ้น นอกจากนี้การวินิจฉัยโรคในสัตว์ที่เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วจะช่วยหาแนวทางป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                   ดังนั้นการจัดตั้ง ศูนย์วิจัยและช่วยชีวิตสัตว์ทะเล จะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านงานวิจัย ด้านงานการเรียนการสอน การบริการวิชาการและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และภาคประชาชน

 

พันธกิจ

  • เป็นศูนย์ช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้นสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับบาดเจ็บอย่างถูกต้อง เหมาะสมและรวดเร็ว
  • เป็นศูนย์วินิจฉัยโรคเบื้องต้นสำหรับสัตว์ทะเล
  • เป็นศูนย์วิจัยสัตว์ทะเล ทั้งสัตว์เศรษฐกิจและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
  • เป็นศูนย์ข้อมูลการเรียนรู้เพื่อใช้ในการสอนนักศึกษาสัตวแพทย์
  • เป็นศูนย์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการการอนุรักษ์สัตว์ทะเล
  • เป็นศูนย์กลางเครือข่ายงานวิจัยและบริการวิชาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน

 

ทีมงาน
ผศ.ดร.น.สพ.เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน หัวหน้าศูนย์ฯ
อ.ดร.จินดาหรา เปรมปราโมทย์
อ.สพ.วรกาญจน์ บุญเหาะ

ผ่าซากหาสาเหตุการตายของโลมาเกยตื้น ส่วนมากเกิดจากการบาดเจ็บจากเรือประมง

ขยะพลาสติก (เชือก) ที่พบในทางเดินอาหารของเต่าทะเล

ถ่ายภาพรังสีเต่าทะเลเพื่อการตรวจสุขภาพเต่าทะเลเกยตื้น
รักษาเต่าทะเล

ผ่าซากหาสาเหตุการตายของเต่าทะเลเกยตื้น ส่วนมากเกิดจากขยะทะเล